3 วิธีง่ายๆ ที่ทำให้ความรักเติบโตไปพร้อมๆ กับเงินของคุณ
10 กุมภาพันธ์ 2563 | เขียนโดย Pan Pho Team.
ปัญหาส่วนใหญ่ของชีวิตคู่คงหนีไม่พ้นปัญหาระหว่าง “ความรัก” และ “การเงิน” มาเรียนรู้วิธีที่จะช่วยให้คุณแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “ความรัก” และ “การเงิน” เพื่อสร้างความสัมพันธ์ดีๆ ให้กลับมาหาคุณ
ถ้าพูดถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์เป็นอันดับต้นๆ 2 คำตอบนี้ คงตีคู่สูสีกันมาแน่ๆ คือ ”การเงิน” และ “ความรัก” ก็ไม่ใช่เรื่องน่าสงสัยอะไรถ้าคนส่วนใหญ่จะบอกว่า ‘สิ่งที่สำคัญสำหรับฉันคือเงิน’ ‘ความรักก็เป็นสิ่งที่ฉันขาดไม่ได้’ เพราะ ‘เงิน’ ทำให้คุณอิ่มท้อง และ ‘ความรัก’ ช่วยเติมเต็มความสุข
อาการตกหลุมรัก เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่มันไม่เหมือนตอนจบในการ์ตูนอย่างที่คุณเคยดูตอนเด็ก เห็นฉากเจ้าชายกับเจ้าหญิงรักกันชั่วนิรันดร์ แล้วภาพก็ตัดไป กลับกันในโลกของความเป็นจริง ความรัก เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้นในการสร้างครอบครัว
เพราะการเงินจะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่คอยขับเคลื่อนความรัก ในขณะที่ความรักก็คอยขับเคลื่อนการเงินเช่นกัน ทั้ง ”การเงิน” และ “ความรัก” เป็นความสัมพันธ์ที่แยกขาดจากกันไม่ได้
เพื่ออธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจถึงกลไกความสัมพันธ์ระหว่างการเงินกับความรักมากขึ้น ต้องย้อนกลับไปในช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์ สมัยที่มุนษย์ยังใช้ถ้ำหินเป็นที่อยู่อาศัย มนุษย์เพศชายจะทำหน้าที่ในการหาอาหารหรือล่าสัตว์ ในขณะที่ มนุษย์เพศหญิงจะอยู่ถ้ำเพื่อทำหน้าที่เลี้ยงลูก ทำอาหาร และงานเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งหน้าที่ของผู้ชายเปรียบเหมือนการออกไปหาเงินขณะที่ผู้หญิงจะทำหน้าที่มอบความรักและการดูแล
กลายเป็นมายาคติที่ว่า ผู้ชายทำหน้าที่ทำงานหาเงิน ผู้หญิงคอยให้ความรัก ให้การดูแล และจากมายาคติที่ถูกปลูกฝังมาแบบนั้นส่งผลถึงพฤติกรรมในปัจจุบัน ที่ผู้หญิงหันมาเป็น Working women กันมากขึ้น ไม่อยากอยู่บ้านอย่างเดียว เพราะเงินไม่พอใช้ ส่วนผู้ชายก็กลัวจะไม่ได้รับความรักความเอาใจใส่เท่าเดิม ลามไปจนถึงปัญหาอื่นๆ
เกิดเป็นความขัดแย้ง ทำให้การเงินกลายเป็นปัญหาของชีวิตคู่ ความรักแตกหัก นำไปสู่การมีปากเสียงและหย่าร้างในที่สุด แต่ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นสามารถหาทางออกง่ายๆ ได้ในบทความนี้แล้ว
3 วิธีง่ายๆ ที่ทำให้ความรักเติบโตไปพร้อมๆ กับเงินของคุณ
วิธีที่ 1: “ให้ความสำคัญทั้งความรักและการเงิน”
คุณน่าจะเคยเจอคำถามนี้บ่อย ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเล่นๆ หรือเปิดบทสนทนาแบบจริงจังว่า “จริงๆแล้วในชีวิตคนเรา อะไรสำคัญกว่ากันระหว่างเงินกับความรัก” มันเป็นคำถามที่คนตอบต้องใช้ความคิดอย่างหนัก ถ้าต้องเลือกระหว่างเงินกับความรัก ก็คงไม่ต่างอะไรกับการถามว่า
“จริงๆแล้วในชีวิตคนเราอะไรสำคัญกว่ากันระหว่างมือซ้ายกับขาขวา” คุณคงชั่งใจในการตอบอยู่นานแน่ๆ เพราะทั้งมือซ้ายและขาขวาต่างก็มีหน้าที่แตกต่างกัน หน้าที่ของมือซ้าย คือ หยิบจับสิ่งของ และใช้แสดงท่าทางต่างๆ ส่วนหน้าที่ของขาขวา คือ ช่วยในการเคลื่อนไหว เช่น เดิน วิ่ง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คุณไม่สามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้
.
เช่นเดียวกันกับกรณีของเงินกับความรัก “เงิน” ทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เราสร้างความสุขได้มากขึ้น สร้างความมั่นคงในชีวิต ส่วน ”ความรัก” เป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีในการทำให้เราวางแผนอนาคต การใช้ชีวิต และวางแผนการใช้เงินในรูปแบบที่ดีขึ้นได้ จะเห็นว่าทั้งเงินและความรักต่างก็ทำหน้าที่ต่างกัน ไม่สามารถทดแทนกันได้ และแยกขาดออกจากกันไม่ได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คุณต้องมีทั้งเงินและความรัก
.
ข้อคิด: เป็นเรื่องจริงที่ใครหลายคนบอกว่า เงินซื้อความรักไม่ได้ แต่เงินสามารถช่วยคุณสร้างความสุขและเติมเต็มความรักได้ สร้างทางเลือกให้คุณได้มากขึ้น สามารถพาคนรักไปซื้อของแพงๆ ทานอาหารหรูๆ ได้ด้วย ยิ่งคุณมีเงินมากเท่าไหร่ คุณยิ่งมีอิสรภาพทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นคุณควรให้ความสำคัญทั้งความรักและการเงิน
วิธีที่ 2: “เข้าใจพฤติกรรมการใช้เงินของคนรัก”
พฤติกรรมการใช้เงินเป็นปัจเจกเฉพาะบุคคล บางคนมีนิสัยใช้จ่ายฟุ่มเฟือย บางคนชอบเก็บออม ยิ่งถ้าคนที่มีพฤติกรรมการใช้เงินคนละขั้วมาอยู่ด้วยกัน อาจทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ทำไมต้องซื้อของใหม่ ทั้งๆ ที่ของเก่ายังใช้ได้อยู่ ทำไมต้องเก็บเงิน ไม่รู้จักใช้หาความสุขเสียบ้าง และสารพัดคำถามอีกร้อยแปด เพราะแค่ความไม่เข้าใจในพฤติกรรมการเงินของกันและกัน
.
ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าคนรักของคุณจะมีพฤติกรรมการเงินที่แตกต่างกัน ขนาดพี่น้องบางคนเกิดในครอบครัวเดียวกัน ยังมีวิธีการจัดการการเงินไม่เหมือนกันเลย ซึ่ง T.Harv Eker ผู้เขียนหนังสือ The Secret of Millionaire Mind และนักธุรกิจที่ค้นพบหลักการ Money Mindset ได้แบ่งพฤติกรรมการใช้เงิน หรือบุคลิกภาพทางการเงิน (Money Personality) 4 ประเภท ประกอบไปด้วย
- Spender คือ กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมชอบใช้จ่าย มีความสุขกับการใช้เงิน ใช้เงินเพื่อซื้อความสุข ความสบาย หาเงินมาได้ก็มักจะใช้หมด
- Saver คือ กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมตรงข้ามกันกับ Spender อย่างสิ้นเชิง กลุ่มคนที่มีความสุขกับการทำงานเก็บเงินไปเรื่อยๆ มีความสุขเป็นพิเศษเมื่อเห็นตัวเลขเงินในบัญชีที่เพิ่มมากขึ้น และจะรู้สึกร้อนรนถ้าต้องใช้เงินหรือจ่ายเงินเพื่อของไม่จำเป็น
- Avoider คือ กลุ่มคนที่ไม่สามารถพูดคุยเรื่องเงินได้ ถ้าคุยเรื่องเงินจะเกิดอาการเครียดและเบือนหน้าหนี เพราะเขามองว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องน่าปวดหัว และเขาอยากหลีกเลี่ยง
- Monk คือ กลุ่มคนที่มองว่าเงินเป็นของนอกกาย เมื่อมีเงินก็จะแบ่งให้กับคนอื่น ช่วยเหลือคนอื่นเสมอ ชอบทำบุญมาก ทำให้ไม่มีเงินเก็บ บางครั้งก็ให้คนอื่นมากเกินไปจนตัวเองเดือดร้อน
.
ข้อคิด: คนทั้ง 4 ประเภทนี้ แฝงตัวปะปนกันอยู่ในสังคม ดูเผินๆ คุณไม่มีทางรู้เลยว่า แต่ละคนมีพฤติกรรมการใช้เงินอย่างไรบ้าง? จะเหมือนหรือต่างกันยังไง? เพราะฉะนั้น เมื่อคุณเริ่มต้นความสัมพันธ์กับคนรัก อย่าลืมศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมการเงินของเขาด้วย เพราะถ้าคนรักของคุณเป็นคนประเภท Spender แต่คุณอยากให้เขาเห็นความสำคัญของเงินและเก็บเงินเหมือนคุณ (Saver) คนรักของคุณจะไม่มีทางทำได้ในทันที หรือถ้าทำได้เขาจะทำได้ไม่ดีพอ ดังนั้นคุณควรเข้าใจพฤติกรรมทางการเงินของแต่ละประเภทเพื่อปรับตัว หากึ่งกลาง สร้างสมดุลและยืดหยุ่นซึ่งกันและกัน
วิธีที่ 3: “เข้าใจภูมิหลังและบริหารความคาดหวังซึ่งกันและกัน”
บางครั้งคุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมตัวคุณถึงมีมุมมองการเงินแบบนี้? คนรักของคุณถึงมีมุมมองการเงินอีกแบบ? คำตอบของคำถาม คือ เพราะทุกคนมีภูมิหลัง หรือ Background ชีวิตไม่เหมือนกัน Background ของแต่ละคนที่แสดงพฤติกรรมออกมาล้วนมาจาก Mindset ที่ถูกหล่อหลอมจากคำพูดที่เคยได้ยินฝังหัว ต้นแบบที่เคยเห็น เหตุการณ์ฝังใจที่เคยมีประสบการณ์ร่วมนั่นเอง
.
นอกจากนี้ คุณต้องรู้จักบริหารความคาดหวังของกันและกันด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมาได้ เช่น คุณเกิดปัญหาทะเลาะกับคนรัก เพราะคนรักของคุณคาดหวังให้คุณเป็นคนทำงานหาเงินเข้าบ้าน เป็นคนจัดการเรื่องการเงินทุกอย่าง และต้องเป็นคนเก็บเงินให้เธอ เมื่อคุณมองให้ลึกลงไปถึง Background ว่า ทำไมคนรักของคุณถึงคาดหวังกับคุณเช่นนั้นก็พบว่า
ตอนเด็กๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่เธออยากกินขนม เธอจะวิ่งไปขอเงินแม่และกลับมามือเปล่า พร้อมกับคำพูดของแม่ที่จะบอกกับเธอเสมอว่า ‘ไปขอที่พ่อสิ พ่อเป็นคนถือเงินทั้งหมด’ หลังจากนั้นเธอจึงมีความเชื่อแบบฝังลึกว่า เงินทั้งหมดสมควรอยู่กับผู้ชาย ทำให้เธอคาดหวังว่า ผู้ชายจะหาเงินมาให้เธอใช้และเป็นคนคอยดูแลเงินให้ตลอด
.
ข้อคิด: เหตุผลที่คุณต้องรู้ Background ของคนรัก เพราะคุณจะต้องทำความเข้าใจ บริหารความคาดหวัง พูดคุยและปรับตัวเข้าหากัน เพื่อลดความขัดแย้ง ไม่ทำให้การเงินกลายเป็นปัญหาของชีวิตคู่ และช่วยกันสร้างความรักให้ยืนยาวด้วยความเข้าใจ
เมื่อคุณลองปฏิบัติตาม 3 วิธีข้างต้นแล้ว เชื่อได้เลยว่า ความสัมพันธ์ดีๆ จะกลับมาหาคุณ ให้คุณคิดไว้เสมอว่า “ความรัก” ไม่ได้ทำให้ชีวิตของคุณแย่ แต่ “ความรัก” จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้คุณรู้จักวางแผนการใช้เงินในรูปแบบที่ดีขึ้น เป็นกำลังให้คุณใช้ชีวิตและวางแผนอนาคตที่ชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกัน “เงิน” ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตรักของคุณแย่ แต่ ”เงิน” จะเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนความรักของคุณ ให้มีความสุขได้มากขึ้น มีความมั่นคงในชีวิตคู่มากขึ้นนั่นเอง
.
คุณไม่จำเป็นต้องเลือกมีแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง คุณสามารถให้ความรักและเงินเติบโตไปพร้อมๆ กันได้
.
หากคุณอยากรู้เคล็ดลับการจัดการการเงินไปพร้อมกับเรื่องอื่นๆ อีก พร้อมทั้งเรียนรู้เทคนิคการสร้างความสำเร็จทางชีวิตและการเงิน ทางเราขอแนะนำ สัมมนา Millionaire Mind Intensive สัมมนาที่อัดแน่นด้วยความรู้ ประสบการณ์ และเคล็ดลับตลอด 3 วัน ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตและการเงินของคุณไปตลอดกาล >> สนใจกด Banner ด้านล่างได้เลย!
ภารกิจของเราคือ ยกระดับชีวิตผู้คนด้วยความรู้คุณภาพ ผ่านประสบการณ์สัมมนาจากสุดยอดนักพูด เจ้าของธุรกิจ และนักสร้างแรงบันดาลใจแถวหน้า เพื่อสร้างผลัพธ์ด้านธุรกิจ ชีวิต และการเงินให้แก่ผู้คน
- PAN PHO TEAM.